สำหรับตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ต้องยอมรับนะคะว่าการใช้งานหลักก็คือเป็นตู้สำหรับบรรจุ และขนส่งสินค้า แต่ในปัจจุบันนี้ตู้คอนเทนเนอร์ยังเป็นที่นิยมในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นบ้าน อาคาร ร้านค้าต่างๆอีกมากมายเลยทีเดียวนะคะ เรียกได้ว่ามีมาให้ทำได้เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย และมีให้เชือกหลากหลายรูปแบบกันเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้นบทความนี้จึงได้รวบรวมเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ มาเล่าสู่ฟังกันค่ะ และจะได้ทราบเหตุผลด้วยค่ะ ว่าทำไมจึงนิยมนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมกันค่ะ
เหตุผลที่นิยมนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ในงานสถาปัตยกรรม
1. เริ่มด้วยขนาดของตู้คอนเทนเนอร์กันก่อนเลยนะคะ หากจำแนกประเภทของตู้คอนเทนเนอร์ ตามขนาดมาตรฐาน จะมี 2 ขนาด นั่นคือ
– ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (กว้าง x สูง x ยาว)
ขนาดภายนอก 2.44 x 2.59 x 6.06 เมตร
ขนาดภายใน 2.35 x 2.39 x 5.71 เมตร
– ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต (กว้าง x สูง x ยาว)
ขนาดภายนอก 2.44 x 2.59 x 12.19 เมตร
ขนาดภายใน 2.35 x 2.39 x 12.30 เมตร
หากดูจากขนาดแล้ว โดยเฉพาะความสูงจะสังเกตได้ว่า เป็นความสูงที่พอดีสำหรับการเข้าไปใช้งานภายในได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องก้มเลยนะคะ หรือจะลองเทียบแบบง่ายๆ ก็คือประมาณระดับพื้นถึงเพดานของห้องน้ำในคอนโดทั่วไปนั่นเองค่ะ
2. รูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์
• Dry Container เป็นตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้าทั่วไป
• Reefer Container เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ จะมีเครื่องทำความเย็นติดตั้งอยู่ สำหรับขนส่งอาหารสด ไอศกรีม ผลไม้และอาหารต่างๆ
• Open Top Container เป็นตู้ที่ออกแบบให้ด้านบนเปิดโล่ง ไม่มีหลังคา สำหรับสินค้าหรือ สิ่งของที่มีความสูงพิเศษ
• Flat Rack Container เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่เปิดโล่ง ทั้งด้านบนและด้านข้าง จะมีฐานที่ราบสำหรับสินค้าขนาดใหญ่
สำหรับชนิดของตู้คอนเทนเนอร์ที่นิยมนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม ก็คือแบบ Dry Container นั่นเองค่ะ เพราะฟังก์ชันที่ไม่ต้องดัดแปลงมาก โครงสร้าง และอุปกรณ์เดิมไม่ยุ่งยากซับซ้อนนั่นเองค่ะ
3. วัสดุและโครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์
อีกคุณสมบัติของตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นข้อดีมากๆ ซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม นั่นก็คือโครงสร้างและวัสดุค่ะ
• ส่วนโครงสร้างประกอบไปด้วยเสาและคาน ทำจากเหล็ก ตำแหน่งของเสาอยู่ทั้ง 4 มุมของคอนเทนเนอร์ ซึ่งมีความแข็งแรงมากๆ รับน้ำหนักได้กว่า 25 ตัน
• ส่วนผนัง เป็นส่วนที่มีเอกลักษณ์ เป็นอีก Signature ของตู้คอนเทนเนอร์เลย โดยเป็นเหล็กที่พับเป็นลอนๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่น้ำหนักยังเบาอยู่ และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือสีที่พ่นทับ จะมีความคงทนมากๆ ต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และความชื้น
• ส่วนพื้นโดยทั่วไปจะเป็นวัสดุบอร์ด หรือพาเลตไม้ วางลงบนโครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์
จะเห็นว่าลักษณะของวัสดุ และโครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์นั้น มีความแข็งแรงคงทน มีลักษณะเป็นกล่องปิดล้อมรอบด้าน สามารถกันแดด กันฝนได้อย่างดีเยี่ยมแน่นอน รวมถึงรูปลักษณ์เฉพาะตัวของตู้คอนเทนเนอร์ ที่ดูมีความเท่ Industrail หน่อยๆอีกด้วยค่ะสำหรับการจะดัดแปลง เจาะช่องเปิดเพิ่มก็ไม่ยุ่งยากมากนัก จึงเหมาะมากๆ ที่จะนำมาออกแบบเพิ่มเติม เสริมให้กลายเป็นอาคารค่ะ
4. การนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ในงานสถาปัตยกรรม
– การซ้อนชั้น ด้วยโครงสร้างของตัวตู้เอง สามารถซ้อนได้หลายชั้นด้วยกัน ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องการรับน้ำหนักมากนัก แต่ถ้ามีการซ้อนแบบเหลื่อมกัน หรือการซ้อนสลับด้านไปมา อาจจะต้องมีการคำนวณเพิ่มเติม
– ฉนวนกันความร้อน เนื่องจากฟังก์ชันที่เราจะดัดแปลง เป็นที่ที่คนเข้าไปใช้สอยได้ หากเป็น Indoor แท้ๆ ที่ต้องติดแอร์ แนะนำให้ติดฉนวนกันความร้อนด้วยจะดีมาก
– ฐานรากยกพื้นการติดตั้ง ไม่แนะนำให้ติดตั้งชิดกับดินเลย เนื่องจากเรื่องความชื้นจากดิน และการทรุดตัวของดินในภายหลัง จึงแนะนำให้ทำฐานรากแล้วให้ตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งลอยเหนือดิน
การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ มาทำเป็นบ้าน ร้าน หรือสำนักงาน มีความน่าสนใจด้วยลักษณะเฉพาะของตู้คอนเทนเนอร์ ที่ดูชิค ดูเท่ เรียบๆให้ลุคที่ Industrail หน่อยๆ เปลือยๆ แต่กลับมีสไตล์ในแบบที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้นการออกแบบจัดวางสัดส่วน หรือการซ้อนทับกันของตู้คอนเทนเนอร์ก็ดูน่สนใจ และมีความเป็นไปได้หลากหลายสไตล์ จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใจเลยค่ะ ที่จะมีงานสถาปัตยกรรมต่างๆจากตู้คอนเทนเนอร์ ที่น่าสนใจออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลานั่นเองค่ะ